สมาคมม้ง จัด “พบ-ถก-ดัน-ม้ง 2023″ขับเคลื่อนสิทธิในที่ดิน “เลาฟั้ง” ส.ส.ก้าวไกล แนะ 4 เรื่อง ยกระดับคุณภาพชีวิตเผยช่วง 20 ปี พลิกโฉมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เป็นที่เข้าใจ สังคมยอมรับ
วันที่ 28 ตุลาคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7รอบพระชนมพรรษา ต.ช้างเผือก อ.เมืองจ.เชียงใหม่ นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุลส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นประธานเปิดโครงการ พบ-ถก-ดัน-ม้ง 2023 เพื่อแลกเปลี่ยน และขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดิน มีนายไกรสร จิระพาณิชย์ นายกสมาคมม้ง กล่าวรายงาน นายวิชิต เมธาอนันต์กุล ที่ปรึกษาโครงการ ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบลแม่แรม อ.แม่ริม พร้อมคณะกรรมการเครือข่าย 18 ตระกูลแซ่ และเครือข่ายเยาวชน ผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วม 450 คน
ทั้งนี้ในที่ประชุม ได้เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเรื่องที่ดินและการจัดงานปีใหม่ม้ง พร้อมแนะนำคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ แถลงวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ แผนงาน เพื่อระดมทุนสนับสนุนสมาคม และกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพกลุ่มชาติพันธุชาวม้ง และสังคมทั่วไป
นายเลาฟั้ง กล่าวว่า ในฐานะเลขานุการกรรมาธิการที่ดินและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมแทนราษฎร (ส.ส.) ขอให้กำลังใจและสนับสนุนสมาคม พร้อมผลักดันทุกเรื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดิน เพราะชาวม้งเป็นเกษตรกรกว่า 80 %และไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน กว่า 90 %ทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการประกอบอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิต ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างทางเลือกประกอบอาชีพและยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม
“สมาคมม้ง ต้องจัดทำยุทธศาสตร์และแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 เรื่อง คือ 1. การรักษาพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น 2. มีสิทธิในที่ดิน ภายใต้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.พัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมภายใต้ระเบียบกฎหมาย ที่ยังเป็นข้อจำกัดสิทธิการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และ 4. การสร้างโอกาสคนรุ่นใหม่ เพราะกลุ่มชาติพันธ์ มีโอกาสน้อย ต้องสร้างทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ ในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวในอนาคต” นายเลาฟั้ง กล่าว
ด้านนายไกรสร กล่าวว่า การต่อสู้ดิ้นรน เพื่อให้สังคมม้ง และเป็นส่วนหนึ่งสังคมไทย ได้ต่อสู้เรียกร้องมายาวนานแล้ว ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยเฉพาะนายเลาฟั้ง ถือเป็น ส.ส.ชาวม้งคนที่ 2 และมีตำแหน่งสูงสุด ในเวทีการเมืองระดับชาติ หลังบรรพบุรุษได้มาอาศัยอยู่ในประเทศ 200 กว่าปี ที่ผ่านมา และมีชาวม้งที่ประสบความสำเร็จหลายด้าน อาทิ แพทย์ วิศวกรนักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ นักกีฬานักศิลปะ และนักศึกษาที่เป็นแข่งขันWorld Skills Competition 2022Special Edition ระดับนานาชาติ “ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชาวม้งได้สร้างชื่อเสียง และนำพาความเป็นม้งให้เป็นที่รู้จัก และเป็นที่เข้าใจของสาธารณะมากขึ้น ในความสำเร็จดังกล่าวถือมีส่วนช่วยสร้างประวัติศาสตร์ฉบับใหม่ เพราะมีส่วนสำคัญที่ช่วยลบภาพลักษณ์ ที่ถูกตีตราและกักขังมาโดยตลอดว่า เป็นเพียงผู้ไร้เดียงสา มีความล้าหลัง เป็นภัยต่อความมั่นคง และเป็นภาระให้กับสังคมมากกว่า การพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงสร้างสรรค์ น่ามีส่วนร่วมสร้างประเทศ และสังคมไทยให้มั่นคง แข็งแรงมากขึ้นตามลำดับ” นายไกรสร กล่าว
ทั้งนี้ สมาคมม้ง ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวม้ง 9 ด้านอาทิ ด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดี พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศสร้างรากฐานทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง พร้อมสร้างประชาคมให้น่าอยู่และยั่งยืนด้วย