ข่าวภาคเหนือ » คณบดี​คณะ​แพทยศาสตร์​ มช. ขับเคลื่อนคณะแพทยศาสตร์ ก้าวสู่ Digital Faculty และ Digital Hospital 

คณบดี​คณะ​แพทยศาสตร์​ มช. ขับเคลื่อนคณะแพทยศาสตร์ ก้าวสู่ Digital Faculty และ Digital Hospital 

20 ธันวาคม 2022
63   0

Spread the love

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย โดยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษา เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการ เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยและบุลคลากร รวมถึงการพัฒนากระบวนการทำงานและการบริหารจัดการระบบงานต่างๆ ภายในคณะฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ศ.(เชี่ยวชาญ​พิเศษ)​ นพ.บรร​ณ​กิจ​ โ​ล​จ​นาภิวัฒน์​ คณบดี​คณะ​แพทยศาสตร์​ มช. กล่าวถึงการก้าวสู่ Digital Faculty และ Digital Hospital ของคณะฯ ดังนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งศูนย์บริการการแพทย์ทางไกล หรือ Multidiciplinary Telemedicine Center เพื่อขยายการเข้าถึงการให้บริการของผู้ป่วยและญาติ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาภายในโรงพยาบาลระหว่างแผนก หรือการปรึกษาระหว่างโรงพยาบาลทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเชื่อมั่นในการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการเชื่อมต่อระบบกับทาง รพ. เทพรัตน์เวชชานุกุลฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็น รพ. ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ลำบาก เมื่อมีระบบ Telemedicine ไปลงที่ รพ. เทพรัตน์เวชชานุกุล ทำให้แพทย์ที่แม่แจ่มสามารถปรึกษากับแพทย์ที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ได้โดยตรง ส่งผลให้ผู้ป่วยลดเวลาในการเดินทาง และประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งศูนย์บริการการแพทย์ทางไกล หรือ Multidiciplinary Telemedicine Center เพื่อเชื่อมระบบ Personal Health Record หรือ PHR ในระบบ line ของ รพ. เพื่อให้ผู้ป่วยเห็นข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้โดยสะดวก ทำให้ผู้ป่วยสามารถดูข้อมูลการรักษาเฉพาะตัว และนำมาซึ่งการปฏิบัติตัวเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น

ส่วนในกรณีของการชำระค่าบริการต่างๆ ได้มีการดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งในปีนี้ทาง รพ. ได้เปิดรับบริการชำระค่าบริการผ่านทาง QR Code และล่าสุด ทาง รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ได้เป็น รพ.นำร่อง โดยร่วมมือกับทางกรมบัญชีกลาง ในการเปิดให้มีการชำระค่าบริการผ่านทาง แอปเป๋าตัง เพื่อให้ประชาชนสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะแรกเปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วยสิทธิ์เบิกตรง สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนั้น รพ. ได้พัฒนาระบบการส่งยาทางไปรษณีย์ โดยผู้ป่วยสามารถทำการแจ้งความประสงค์ผ่านทางศูนย์ส่งยาทางไปรษณีย์ หรือ ผ่านระบบ line ของ รพ. หลังจากนั้นระบบจะแสดงสถานะของการสั่งยา และส่งยา เพื่อให้ผู้ป่วยหรือญาติ ได้เห็นถึงสถานะการจัดส่งยา และเภสัชกรจะทำหน้าที่ติดต่อผู้ป่วยหลังจากได้รับยา เพื่อให้คำแนะนำต่างๆ แก่ผู้ป่วยอีกครั้ง ผู้ป่วยรับยาต่อเนื่อง ในปัจจุบัน รพ. ได้รับระบบการรับยาต่อเนื่องเป็นแบบอิเลคทรอนิคส์ โดยผู้ป่วยจะสามารถเห็นรายละเอียดและภาพของยาที่จะได้รับ รวมไปถึงสามารถแจ้งความประสงค์ให้ส่งยาให้ที่บ้านได้

ส่วนของผู้ป่วยใน ที่เข้ารับการรักษาใน รพ. ได้มีการใช้ระบบการจัดยาอัตโนมัติ ระบบบริหารยาและเลือด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้ป่วย ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้ป่วยตามมาตรฐานการรับรองกระบวนการคุณภาพสถานพยาบาลขั้นก้าวหน้า (Advanced HA)   ในส่วนระบบปฏิบัติการในโรงพยาบาล ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และลดความผิดพลาดต่างๆ เช่น การอ่านลายมือแพทย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะถูกส่งแบบ real-time เข้าสู่ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล (Operation Center) เพื่อเฝ้าระวังอุบัติการณ์ต่าง ๆ และให้การตอบสนองได้อย่างทันท่วงที และในอนาคตข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติต่อไป


ทั้งนี้ปัจจุบันเมื่อทาง รพ. ได้ทำการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลไปแล้ว ทำให้ทาง รพ. สามารถเชื่อมต่อกับระบบ HIE และ CM-HIS ได้ โดยจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอื่น ๆ สามารถให้แพทย์ดูประวัติการรักษาผ่านทางระบบ HIE หรือ CM-HIS ได้ทันที ทั้งนี้ในการเข้าถึงข้อมูลแต่ละครั้ง จะมีการขอความยินยอมผู้ป่วยก่อนทุกครั้ง เป็นไปตาม พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งระบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลอื่น โดยเฉพาะภาวะฉุกเฉิน