พากินพาเที่ยว » บานประตูแกะสลักวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ อุตรดิตถ์ ศิลปะสมัยอยุธยาที่ยังคงอยู่คู่ชาวอุตรดิตถ์

บานประตูแกะสลักวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ อุตรดิตถ์ ศิลปะสมัยอยุธยาที่ยังคงอยู่คู่ชาวอุตรดิตถ์

22 พฤศจิกายน 2022
318   0

Spread the love

บานประตูแกะสลักวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ อุตรดิตถ์ ศิลปะสมัยอยุธยาที่ยังคงอยู่คู่ชาวอุตรดิตถ์


บานประตูเก่าวิหารวัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เดิมนั้นอยู่วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ แต่เนื่องจากวิหารชำรุดทรุดโทรมมาก อีกทั้งวัดพระฝางในขณะนั้นไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา พระสุธรรมเมธี (บันลือ ธมฺมธโช) เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นจึงได้ขออนุญาตกรมศิลปากร นำมาเก็บรักษาไว้ที่ อาคารธรรมสภา วัดธรรมาธิปไตย ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.2494 ทิ้งไว้แต่ตัววิหารเปล่าปราศจากบานประตูอันวิจิตรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบานประตูคู่นี้แกะสลักในสมัยอยุธยา แต่ละบานขนาดกว้าง 1.2 เมตร สูง 5.3 เมตร และหนาถึง 16 เซนติเมตร ทำจากไม้ปรุแกะสลักเป็นลายกนกก้านขด ลายพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ บานละ 7 พุ่ม ระหว่างพุ่มทรงข้าวบิณฑ์มีกนกใบเทศขนาบ สองข้างขวามือด้านบนมีอกเลาประตูอยู่ตรงกลาง แกะสลักเป็นลายเทพพนม ตอนบนอกเลา 4 องค์ตอนล่างอกเลา 4 องค์ กล่าวกันว่างดงามเป็นที่สองรองจากประตูวิหาร วัดสุทัศน์เทพวราราม ในกรุงเทพฯ ปัจจุบัน ผู้ที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวยังจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถติดต่อขอเข้าชมได้ที่ พระมหามงคล กตปุญโญ เจ้าอาวาสวัดธรรมาธิปไตย/เจ้าคณะอำเภอตรอน หมายเลขโทรศัพท์ 0816889278 ได้ทุกวัน

ส่วนบานประตูวิหารวัดพระฝางจำลองในปี พ.ศ. 2534 กรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาอนุรักษ์เนื้อด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ บานประตูวัดพระฝางจึงมีสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ในปีพ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสร้างบานประตูไม้แกะสลักวิหารวัดพระฝางคู่ใหม่ เพื่อนำกลับไปติดตั้งยังวิหารหลวงวัดพระฝาง (ติดตั้งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551) ซึ่งบานประตูคู่ใหม่นี้มีลักษณะวิจิตรสวยงามเหมือนของเดิมทุกประการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมศิลปากรในการจัดสร้าง
cr ณัฐวัฒน์ ราชประสิทธิ์ ภาพ/ข่าวอุตรดิตถ์