เกษตรเพื่อชีวิต » เชียงใหม่ เตรียมส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยนอกฤดู นำร่องแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืน

เชียงใหม่ เตรียมส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยนอกฤดู นำร่องแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืน

20 กันยายน 2022
81   0

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเตรียมส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยนอกฤดู นำร่องการแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิต เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2565

นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในฤดูการผลิตปี 2565 จังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราค่าจ้างแรงงานสูง และขาดแคลนแรงงานในการทำลำไยสดช่อ ทำให้เกษตรกรต้องจำหน่ายในรูปแบบเหมาสวนและลำไยรูดร่วงมากขึ้น ซึ่งปัจจัยค่าแรงที่สูงขึ้นนั้น เกษตรกรไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้ผลผลิตลำไยเกรด A ลดลง รวมถึงช่วงห่างราคาระหว่างลำไยรูดร่วง เกรด AA และเกรด A ต่างกันมากจนเกินไป และเกษตรกรบางรายไม่มีการคัดแยกคุณภาพก่อนส่งให้ล้งรับซื้อลำไย ทำให้ล้งกดราคาและส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง

ขณะที่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 เชียงใหม่ ได้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่า การผลิตลำไยในฤดู ของภาคเหนือ ในปี 2565 มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และจังหวัดตาก โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 เชียงใหม่ และสำนักงานเกษตรจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต และระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่างใกล้ชิดตลอดช่วงฤดูการผลิต เพื่อให้ได้ลำไยที่มีคุณภาพ แก้ไขสถานการณ์ผลผลิตกระจุกตัว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันวิเคราะห์จัดทำแนวทางการนำร่อง การแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยอย่างยั่งยืนในระยะยาว ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการผลิตลำไยในฤดูให้เป็นการผลิตนอกฤดูมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ในระหว่างช่วงที่เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการผลิต เกิดสมดุลทางรายได้ เวลา และกิจกรรมต่างๆ ต่อไป