สกู๊ปพิเศษ » หมอ มช.เตือน ภาวะหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพอง แนะผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

หมอ มช.เตือน ภาวะหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพอง แนะผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

4 เมษายน 2021
794   0

Spread the love

หมอ มช.เตือน ภาวะหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพอง แนะผ่าตัดมีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

 

ผศ.นพ.สารนาถ ออรพินท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า ภาวะหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพองส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของผนังหลอดเลือดตามวัย ทำให้แรงดันภายในหลอดเลือดดันให้ขยายขนาดมากขึ้น นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ และภาวะแข็งตัวของหลอดเลือด ก็เป็นปัจจัยร่วมทำให้ผนังหลอดเสื่อมเร็วมาก ขึ้นเช่นกัน สาเหตุอื่นๆที่พบได้ไม่บ่อย เช่นการติดเชื้อของหลอดเลือด หรือการฉีกขาดของหลอดเลือดเป็นต้น    โดยทั่วไปจะไม่มีอาการ มักจะตรวจเจอโดยบังเอิญ หรือรายที่หลอดเลือดโป่งพองขนาดใหญ่มากๆ ผู้ป่วยอาจจะรู้สึก หรือคลำก้อนเต้นได้ที่ท้องบริเวณลิ้นปี่หรือสะดือ   เมื่อหลอดเลือดแดงช่องท้องโป่งพอง ขนาดจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆตามระยะเวลา โดยที่หลอดเลือดโป่งพองยิ่งใหญ่ขึ้น จะมีโอกาสแตกมากขึ้น ผู้ป่วยหลอดเลือดแดงโป่งพองแตก จะมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน รุนแรง อาจปวดทะลุหลัง ความดันตก หมดสติจากเสียเลือดมาก ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ฉุกเฉิน

ปัจจัยที่ทำให้หลอดเลือดแดงแตก เกิดจากขนาดที่ใหญ่มากๆจะทำให้เกิดแรงดันสูงจนผนังหลอดเลือด แตกทะลุ การรักษาจึงแนะนำแก้ผ่าตัดแก้ไขก่อนหลอดเลือดแดงแตก

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดรักษาโรคนี้ เป็นการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิต และมีภาวะ แทรกซ้อนหลังผ่าตัดสูง ดังนั้นจะพิจารณาทำการผ่าตัดเมื่อความเสี่ยงของหลอดเลือดแดงโป่งพองแตก สูงกว่าความเสี่ยงจากการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันแนะนำให้ทำการผ่าตัดเมื่อขนาดหลอดเลือดแดงโป่งพองใหญ่กว่า 5.0-5.5 cm

เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความเสื่อม ยังไม่มียา หรือการรักษาใดๆที่แก้ไขหลอดเลือดที่โป่งพองไปแล้วให้กลับเป็นปกติ จึงแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองเพื่อรักษาก่อนเกิดภาวะหลอดเลือดแตกโดยแนะนำให้ทำการตรวจอัลตร้าซาวน์หลอดเลือดแดงในช่องท้องในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะคนที่มีประวัติ สูบบุหรี่ หากตรวจพบ จะมีการติดตามขนาด และวางแผนการรักษาอย่างใกล้ชิด ลดโอกาสเสียชีวิตจากหลอด เลือดแดงแตก

Website : https://web.med.cmu.ac.th/index.php/th/allarticle/25-hilight-news/1061-2021-04-04-02-40-34

Telegram : https://t.me/medcmu/120

Blockdit : https://www.blockdit.com/posts/606927b022fb780c570791df

Facebook : https://www.facebook.com/190910644280633/posts/3933021903402803/?d=n

Instagram : https://www.instagram.com/p/CNOkKItMGXs/?igshid=1l6qw7p97rhcl

Twitter : https://twitter.com/medcmuofficial/status/1378538403541606400?s=21