จังหวัดแพร่ “เปิดศูนย์เรียนรู้บ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลต้นแบบ”แห่งแรกของจังหวัด
ที่บ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองม่วงไข่ อำเภอหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้บ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลต้นแบบ เป็นแหล่งกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ถูกสุขลักษณะอย่างเป็นระบบแห่งแรกของจังหวัดแพร่ สามารถป้องกันการเกิดปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาโรคพยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งท่อน้ำดี การกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ถูกสุขลักษณะสามารถตัดวงจรการเกิดโรคเหล่านั้นได้ โดยการบูรณาการความร่วมมือของเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กรมอนามัย ในการสนับสนุนงานด้านวิชาการและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่พบว่า พื้นที่อำเภอหนองม่วงไข่ มีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีสูงสุด สาเหตุจากพฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตของประชาชน การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับแบบซ้ำๆเรื้อรัง และการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การจัดการสิ่งปฏิกูลเป็นภารกิจหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการสูบ และการขนส่งแล้วนำไปบำบัด หรือกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ ทางเทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ จึงได้ก่อสร้างและพัฒนาบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลที่ถูกสุขลักษณะแบบลานทรายกรอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำลายเชื้อโรคหรือป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับสิ่งปฏิกูล และเพื่อทำการย่อยสลายของสารอินทรีย์ในสิ่งปฏิกูลไม่ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน เป็นต้น เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับสิ่งปฏิกูลมักทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องทำการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลไม่ให้แพร่กระจายไปได้
ในการดำเนินการก่อสร้างบ่อบำบัดสิ่งปฏิกูลแบบลานทรายกรอง เทศบาลตำบลหนองม่วงไข่ได้ดำเนินการก่อสร้างจำนวน 2 บ่อในปี 2564 เพื่อตัดวงจรโรคพยาธิใบไม้ในตับ การกำจัดระบบสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะและสามารถนำกากสิ่งปฏิกูลนำมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ นำปุ๋ยส่งตรวจวิเคราะห์ไข่พยาธิ ณ ห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยมหิดล ผลการตรวจให้พบเชื้อไข่พยาธิ นอกจากนี้ยังได้นำปุ๋ยส่งตรวจแร่ธาตุอาหารที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่-เฉลิมพระเกียรติ ผลการตรวจพบว่ามีแร่ธาตุไนโตรเจน 2.02 % ฟอสฟอรัส 1.2% โปแทสเซียม 0.18% ซึ่งสามารถนำไปใส่ต้นไม้ และจำหน่ายได้อีกด้วย
cr ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่