ชาวเมียนมาทะลักลอบข้ามแดนเข้ามาทำงานในไทย กองกำลังผาเมือง สกัดจับได้รายวัน ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติชี้เกิดจากปัญหาภายในหากเปิดด่านปัญหาจะลดลง ส่วนหนึ่งเพราะไทยต้องการแรงงานหลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด
วันที่ 11 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ทหาร มว.ม.3 ร้อย.ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.3 กองกำลังผามือง ภายใต้การอำนวยการของ พ.อ.สุทธิ์เขตต์ ศรีนิลทิน ผบ.ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง พ.ท.จักรพงษ์ สอดสี ผบ.บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.3 ได้สั่งการให้ ร.อ.กิตติเดช กันคล้อย ผบ.ร้อย.ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม.3 นำกำลังออกปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเฝ้าตรวจชายแดนไทย-เมียนมา บริเวณ ช่องทางบ่อน้ำ หมู่ 6 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ตรวจพบกลุ่มบุคคลต้องสงสัยจำนวนมากเดินเป็นกลุ่มมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านจึงแสดงตัวขอตรวจค้น พบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 22 คน แบ่งเป็นชาย 11คน หญิง 11 คน และผู้นำพาเป็นเด็กวัยรุ่นชื่อไนายไก่ (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี
ในเบื้องต้นชาวต่างด้าวให้การว่าได้เดินทางมาจากประเทศเมียนมาลักลอบเข้ามาเพื่อจะไปทำงานที่ จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ โดยยังไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายให้ผู้นำพาแต่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมได้เสียก่อน เจ้าหน้าที่จึงนำทั้งหมดทำการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายพบผลเป็นปกติ จึงนำตัวส่งด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จว.เชียงราย เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ด้าน กองร้อยทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง นำโดย ร.อ.พูนสิทธิ์ บุรพรัตน์ ผบ.ร้อย ม.3 ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง ได้จัดกำลังพล ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเฝ้าตรวจ บริเวณ ท่าข้ามบ้านไม้ลุงขน ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ตรวจพบผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 15 คน โดยได้เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินเท้าผ่านเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อจะไปหางานทำในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่สาย ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ด้านอาจารย์สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการสำนักวิชานวัตการสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย กล่าวว่าสภาพปัญญาการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยเฉพาะจากชายแดนประเทศเมียนมามีจำนวนมากขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา จากการเข้าไปช่วยเหลือและสอบถามก็ได้รับทราบว่าเกิดจากปัญหา 3 เส้าในประเทศเมียนมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติการระบาดโควิด-19 เป็นต้น และเส้าที่ 2 คือปัญหาการเข้าไปมีอำนาจของรัฐบาลทหารเมียนมา ส่วนเส้าที่ 3 คือความขัดแย้งทางการเมืองทั้งระหว่างรัฐบาลทหารและประชาชนรวมถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทำให้มีการเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้าไปเป็นทหารของกลุ่มตนจึงส่งผลทำให้ประชาชนชาวเมียนมาอยู่อย่างปกติสุขไม่ได้จึงหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทยดังกล่าว
อาจารย์สืบสกุล กล่าวอีกว่าวิธีการที่ประเทศไทยเราทำได้คือจับกุมและนำมากักตัวควบคุมโรครวมทั้งดำเนินคดี ทำให้ทางศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ก็จะเข้าไปดูแลให้อาหาร น้ำดื่มและของใช้ที่จำเป็น รวมถึงการให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงถูกจับกุม การติดต่อสื่อสารกับญาติที่อยู่ในประเทศไทยโดยเฉพาะทางศูนย์ฯ เป็นห่วงว่าเริ่มพบมีเด็กที่ติดตามผู้หลบหนีเข้าเมืองจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคิดว่าได้สร้างความหนักใจให้กับเจ้าหน้าที่ไทยเพราะถือเป็นกลุ่มเปลาะบางที่จะจับกุมดำเนินคดีเหมือนผู้ใหญ่ได้หรือไม่อย่างไรด้วย
“ปัญหานี้จะเบาบางลงได้ก็ต่อเมื่อทางการเมียนมาต้องเปิดพรมแดนที่ติดกับประเทศไทย เพราะประเทศไทยเราประกาศเปิดพรมแดนไปแล้วโดยเฉพาะ จ.เชียงราย พร้อมเปิดตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นมา แต่ติดเงื่อนไขรัฐบาลเมียนมายังไม่เปิดด่าน เพราะถ้าเปิดพรมแดนก็จะทำให้การลักลอบเข้าเมืองเบาบางไปโดยคนงานชาวเมียนมาสามมารถเข้ามาทำงานตามพื้นที่ชายแดนตามกฎหมายไทยมาตรา 64 และประเทศไทยมีระบบการรับคนทำงานแบบเอ็มโอยูด้วย” อาจารย์สืบสกุล กล่าว.
cr ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย