ที่ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบบริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์/ฟาร์มโคนมบริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ ตำบลเหล่ายาว อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน 2564 โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายประเชิญ สมองดี นายอำเภอบ้านโฮ่ง นางสาวชูศรี พูลศิริ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน เกษตรจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดลำพูน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ให้การต้อนรับ
สำหรับจังหวัดลำพูน นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการ ในวันนี้ โดยมี นายสรายุทธ ยิ้มยวน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายประสิทธิ์ เริ่มลึก ผู้ติดตามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวิวัฒน์ ไชยชอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อรณรงค์ควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกิน และร่วมรับฟังปัญหาพร้อมทั้งแก้ไขความเดือดร้องของเกษตรกรในพื้นที่ และเยี่ยมชมศึกษาดูงาน Smart Dairy farmer ของบริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ส่วนราชการต่างๆ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อ เกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019- หรือโควิด-19 อย่างเคร่งคัด
สำหรับข้อมูลสถานการณ์โรคลัมปี สกินในพื้นที่จังหวัดลำพูน จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แต่เป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางด้านปศุสัตว์ที่สำคัญ ครอบคลุมฟาร์มบริษัทใหญ่ ฟาร์มพันธะสัญญาและเกษตรกรรายย่อยทั่วไป มีความพร้อมทางด้านเป็นแหล่ง ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งมีที่ตั้งในพื้นที่ รวมถึงผลผลิตพลอยได้จากอุตสาหกรรมอาหาร มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบส่วนใหญ่ การคมนาคมสะดวกทำให้จังหวัดลำพูนมีความโดดเด่นเป็นศูนย์การผลิตปศุสัตว์ที่สำคัญ เป็นแหล่งอาหารคุณภาพของภาคเหนือสร้างการเจริญเติบโตทางด้านรายได้และธุรกิจให้แก่จังหวัด ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้วิสัยทัศน์ประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ด้านการเลี้ยงโคนมจังหวัดลำพูน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกระจายในพื้นที่ทุกอำเภอ ซึ่งอำเภอที่มีการเลี้ยงโคนมมากที่สุดคืออำเภอบ้านธิ รองลงมาคืออำเภอแม่ทา อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอเมืองลำพูนตามลำดับ จำนวนฟาร์มโคนมทั้งหมด 449 ฟาร์ม ประชากรโคนมทั้งหมดจำนวน 25,695 ตัว และมีฟาร์มโคนมที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) จำนวน 412 ฟาร์ม หรือร้อยละ 91.76 ของจำนวนฟาร์มทั้งหมด
จังหวัดลำพูนมีศูนย์รับน้ำนมดิบ 5 สหกรณ์ ประกอบด้วย 1. สหกรณ์โคนมหริภุญชัย จำกัด 2. สหกรณ์การเกษตรแม่ทา จำกัด 3. สหกรณ์โคนมบ้านโฮ่ง จำกัด 4. สหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด (ศูนย์ห้วยไซ) 5. สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด และมี 2 บริษัทเอกชน ประกอบด้วย 1. บริษัททีเคแดรี่โกลด์ จำกัด 2. บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ จำกัด ซึ่งศูนย์รับน้ำนมดิบสามารถรองรับปริมาณน้ำนม 266 ตันต่อวัน ปัจจุบันปริมาณน้ำนมดิบเฉลี่ย 146.796 ตัน/วัน
ด้านการเลี้ยงโคเนื้อ และกระบือ มีการเลี้ยงกระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอต่างๆ โดยมีการเลี้ยงมากสุดในพื้นที่อำเภอลี้ รองลงมาคืออำเภอแม่ทา อำเภอเมืองลำพูน อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอเวียงหนองล่อง อำเภอบ้านธิ อำเภอบ้านโฮ่ง และอำเภอป่าซาง ตามลำดับ
ด้านสถานการณ์โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ระดับประเทศ (ข้อมูลกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564) มีการพบโรคลัมปี สกิน ครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 ในพื้นที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และพบโรคฯ มากกว่า 45 จังหวัด (จาก 77 จังหวัด), มากกว่า 251 อำเภอ (จากทั้งหมด 576 อำเภอ) สรุปสถานการณ์โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในจังหวัดลำพูน (ข้อมูลกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564) จังหวัดลำพูน มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ รวมทั้งสิ้น 3,008 ราย มีการเลี้ยงโคเนื้อ 35,720 ตัว โคนม 25,694 ตัว และกระบือ 4,401 ตัว และได้จัดกิจกรรมโครงการรณรงค์ Kick off ทำความสะอาดฟาร์มโคนมป้องกันภัยจากโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์รับน้ำนมดิบบริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ สาขาแม่ทา อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
จังหวัดลำพูน พบการเกิดโรคลัมปี สกิน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564เป็นอันดับที่ 45 ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันพบจุดเกิดโรค จำนวน 4 จุด (อำเภอบ้านธิ จำนวน 2 จุด อำเภอแม่ทา จำนวน 1 จุด และอำเภอทุ่งหัวช้าง จำนวน 1 จุด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคทั้งในพื้นที่ที่มีการเกิดโรคและยังไม่เกิดโรค รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมกันให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ ที่มีสัตว์เลี้ยงป่วยหรือป่วยตายจากการระบาดของโรค ดังกล่าว โดยจังหวัดลำพูนได้รับการจัดสรรวัคซีนลัมปี สกิน จากกรมปศุสัตว์ เพื่อควบคุมโรคเบื้องต้น จำนวน 1,680 โดส ซึ่งระยะแรกจะดำเนินการดังนี้ 1. โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอลี้ และอำเภอทุ่งหัวช้าง มีเกษตรกรจำนวน 79 ราย โคจำนวน 121 ตัว และสัตว์ร่วมฝูงในพื้นที่ 2. โครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ ระยะ 2 ในพื้นที่อำเภอเวียงหนองล่อง มีเกษตรกรจำนวน 10 ราย โคจำนวน 96 ตัว และสัตว์ร่วมฝูงในพื้นที่ 3. โครงการเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านธิ และอำเภอป่าซางมีเกษตรกรจำนวน 3 ราย โคจำนวน 167 ตัว และสัตว์ร่วมฝูงในพื้นที่
ด้าน นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ด้านการควบคุม ป้องกันโรคลัมปี สกิน ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยหากไม่เร่งยับยั้งการระบาด อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมโคนม และโคเนื้อของประเทศในอนาคต โดยในพื้นที่จังหวัดลำพูนพบการแพร่ระบาดโรคดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านธิ อำเภอแม่ทา และอำเภอทุ่งหัวช้าง โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการควบคุมโรค ทั้งในพื้นที่ที่มีการเกิดโรคและยังไม่เกิดโรค รวมถึงการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ ที่มีสัตว์เลี้ยงป่วยหรือป่วยตายจากการระบาดของโรคดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว.
ข่าวโดย นายอานนท์ บุญมาตุ้ย สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน