แวดวงการศึกษา » ม.แม่โจ้ ร่วมกับรัฐวิสาหกิจและเอกชน วิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพร-สายพันธุ์กัญชง ช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรและต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม

ม.แม่โจ้ ร่วมกับรัฐวิสาหกิจและเอกชน วิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพร-สายพันธุ์กัญชง ช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรและต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม

21 มิถุนายน 2021
447   0

Spread the love

วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ 2 โครงการ กับรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ได้แก่ 1) โครงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อเสริมสร้างอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร ร่วมกับ การยาสูบแห่งประเทศ ไทย, บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด, สมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบจังหวัดเชียงราย-พะเยา และ 2)โครงการวิจัย พัฒนาพืชสมุนไพรและกัญชง ร่วมกับ บริษัท เฮิร์บ เทรเซอร์ จำกัด และ บริษัท นอร์ทเทอร์นการเกษตร จำกัด โดยมี รอง ศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย  นางสาวรมย์ชลี  จันทร์ประสิทธิ์,นางสาวอริสา จิตต์เสนา กรรมการบริษัท เฮิร์บ เทรเซอร์ จำกัด   นายสุระ  พิมสาร นายกสมาคมผู้บ่ม  ผู้เพาะปลูก และผู้ค้าใบยาสูบ จังหวัดเชียงรายและพะเยา    นายวัชระ  ตันตรานนท์ ประธานกรรมการบริษัท นอร์ทเทอร์นการเกษตร จำกัด  เป็นผู้แทนลงนามของแต่ละฝ่าย  โดยมี คณะผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน  ณ  ห้องประชุมรวงผึ้ง  อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย ชั้น 5 มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ปัจจุบันวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา มี 6 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาการจัดการท่องเที่ยว (นานาชาติ) โท-เอก, หลักสูตรสาขาการจัดการเกษตรอินทรีย์ (นานาชาติ) โท-เอก และหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ดิจิทัลและนวัตกรรมการจัดการ (นานาชาติ) โท-เอก โดยมีบุคลากรในสังกัดที่มีความรู้ความสามารถในหลายแขนง ซึ่งนอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ ยังมีโครงการบริการวิชาการแก่สังคม และการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอีกหลายโครงการ

สำหรับการลงนามความร่วมมือ โครงการวิจัยพัฒนาพืชสมุนไพรและกัญชง  เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชงตั้งแต่เรื่องการผสมพันธุ์ การพัฒนาสายพันธุ์ การขยายพันธุ์เพื่อขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ การผลิตต้นกล้าการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการเพาะปลูกต่างๆ รวมถึงการพัฒนาระบบปลูก  ทั้งระบบ โรงเรือน Hoop House ตลอดจนการวิจัยและพัฒนากัญชงเพื่ออุตสาหกรรมที่ปลูกกลางแจ้ง  โดยหน่วยงานทั้งหมดได้ร่วมมือกัน เพื่อให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จตามที่กำหนดไว้ ทั้งด้านการสนับสนุนบุคลากร การบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐานและงบประมาณ  โดยสัญญาฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ได้ลงนาม