กองพลทหารม้าที่ 1 ดำเนินโครงการก่อสร้างฐานอนุสรณ์ พล.อ.หาญ เพไทย ที่เรือนร่มเกล้า อ.เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด โดยการดำเนินโครงการดังกล่าว เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ถึง 15 มิถุนายน 64 เป็นงานฐานราก งานก่อแท่นอนุสรณ์ งานปูหินแกรนิตพื้น งานไฟฟ้าและปรับภูมิทัศน์ ซึ่งแต่ละงานมีความคืบหน้ากว่า 80 % เร็วกว่าแผนงานปกติ 3.44 % คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน สิงหาคม 2564 เพื่อเตรียมเปิดให้ประชาชนเข้ามาชมและร่วมรำลึกถึง วีรบุรุษนักรบ ที่เสียสละชีวิตในช่วงของการเป็นทหารเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ในสมรภูมิการรบในอดีต
สำหรับ พลเอก หาญ เพไทย เกิดเมื่อ วันที่ 29 ธันวาคม พุทธศักราช 2482 เป็นบุตรของ พันตรี สงคราม เพไทย และ นาง บุญชอบ เพไทย
ประวัติการศึกษา
– จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร
– จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร
– นักเรียนเตรียมนายร้อยรุ่น 18 นักเรียนนายร้อย จปร. รุ่น 11
– หลักสูตรส่งทางอากาศและหลักสูตรการรบแบบจูโจม
สมรสกับ นางสาว จารุณี รังคสิริ มีธิดา 3 คน ได้แก่ นาง ปกิตตา เพไทย (น๊อยซ์) 2. นางลียา มะกรทัต 3. พันเอก หญิง กษิรา สุมานันท์
ประวัติการรบ
เดือน สิงหาคม พุทธศักราช 2510 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับหมวดโจมตี หน่วยจู่โจม กองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า นำกำลังเข้าปะทะ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ณ บริเวณเทือกเขาภูพาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม สามารถยึดอาวุธ และฐานปฏิบัติการผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้ และได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นที่ 2
– 16 เมษายน พุทธศักราช 2514 ปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับหมวดลาดตระเวนระยะไกล กองร้อยลาดตระเวนระยะไกล กองพลทหารอาสาสมัคร ผลัดที่ 3/1 นำกำลังเข้าพิสูจน์ทราบ และปะทะกับกำลังของทหารเวียดกง ในพื้นที่ใกล้ลำน้ำซุยคา สามารถลังหารทหารเวียดกงได้จำนวนมาก จากวีรกรรมดังกล่าว กองทัพสหรัฐอเมริกาได้มอบเหรียญ Silver Star (เหรียญกล้าหาญสหรัฐอเมริกา), กองทัพเวียดนามใต้มอบเหรียญ Gallaniry Cross With Palm (เหรียญกล้าหาญเวียดนามใต้) และได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญของกองทัพไทย ปีพุทธศักราช 2515 ได้เข้าปฏิบัติงาน ณ กองอำนวยการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 1617 พื้นที่ภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ทำให้ฝ่ายเราสามารถตั้งฐานปฏิบัติการได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
ในปีพุทธศักราช 25 18 – 2522 ปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 4 กองพลทหารราบที่ 4นำกำลังเข้าร่วมการปฏิบัติตามแผนดอนเจดีย์ 2 และยุทธการร่วมใจ 10 จัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนา และคุ้มครองการก่อสร้างเส้นทางในพื้นที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
มิถุนายน พุทธศักราช 2519 เข้าร่วมปฏิบัติการเข้าช่วยเหลือชุดขุนศึกที่ถูกปิดล้อมขณะเข้าค้นหาเครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 (55 – A) ของกองทัพอากาศพร้อมนักบินที่ถูกยิงตกในเขตข้าศึกออกมาได้สำเร็จ
– 19 มกราคม – 19 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2524 ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3444 น้ำกำลังเข้าร่วมยุทธการผาเมืองเผด็จศึก สามารถยึดสันเขาค้อได้ตลอดแนวจนสร้างเส้นทางเขาค้อ – สะเดาะพง ได้สำเร็จ
– 20 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน พุทธศักราช 2524 นำกำลังเข้าร่วมในยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 2 สามารถสลายอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เขตงาน 15 (เขาค้อ) ได้อย่างสมบูรณ์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นอัศวิน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชา
– เกษียณอายุราชการ เมื่อ ตุลาคม พุทธศักราช 2543 จากนั้นได้รับความไว้วางใจจาก พลเอก พิจิตร กุลละวณิชย์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพของประชาชน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ สู่ความกินดีอยู่ดี ทั้งนี้ได้ขออนุญาตใช้เรือนร่มเกล้า บ้านอุทโยภาส อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จากกองทัพภาคที่ 3 ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก เขาค้อ ตามพระราชดำริ เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พุทธคักราช 2543 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑ์ต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ทก.3 เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2552
– ในปีพุทธศักราช 2540 ได้จัดชุดปฏิบัติภารกิจค้นหาโครงกระดูกอดีตนักรบ 24 นาย ที่สละชีพในยุทธการร่วมใจ 10 อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และสามารถนำโครงกระดูกมาประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพได้ ต่อมายกเลิกภารกิจค้นหา เนื่องจากท่านป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด และถึงอนิจกรรมลง เมื่อวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2554 สิริอายุ 71 ปี
# วีรบุรุษนักรบที่ชนรุ่นหลังขอยกย่องสดุดีและระลึกถึงตลอดไป